ปลาคัง หรือปลากดคัง
ข้อมูลทั่วไปของปลาคังหรือปลากดคัง
ปลาคังหรือปลากดคัง คือปลาน้ำจืดเนื้ออ่อนที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคค่อนข้างสูงแล้วก็ยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงอีกด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ชูคันหอม จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายถึงปลาชนิดไว้ว่า ปลาคังมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mystus wyckioides และมีชื่อเรียกอื่นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปลากดแก้ว ปลากดหางแดง ปลากดเขี้ยว ปลากดข้างหม้อ เป็นต้น เดิมทีปลาคังจะพบมากตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป ทั้งแม่น้ำลำคลอง อ่างเก็บน้ำ และเขื่อน แต่ปัจจุบันจำนวนปลาคังลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ความต้องการในตลาดกลับเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา การเพาะเลี้ยงปลาคังเพื่อจำหน่ายแทนการจับปลาจากธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าของเกษตรกร
ลักษณะทั่วไป
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา ระบุว่า ปลาคังจัดเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวโตเต็มวัยประมาณ 1-3 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยจะมีลำตัวยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก เราอาจพบปลาคังที่หนัก 30-70 กิโลกรัมได้ รูปร่างของปลาคังค่อนข้างเพรียวยาว ส่วนหัวแบนกว้างและมีด้านบนเรียบลื่น ตำแหน่งปากอยู่ต่ำ ฟันแหลมคม มีหนวด 4 คู่อยู่ตรงจมูกกับขากรรไกร หนวดที่ขากรรไกรจะเป็นเส้นยาวจนเลยช่วงกลางลำตัวไป ด้านบนลำตัวเป็นสีม่วงปนเทาดำ ท้องด้านล่างค่อนข้างขาว ผิวเป็นมันเงาไม่มีเกล็ด ครีบทั่วลำตัวมีทั้งแบบก้านครีบแข็งและอ่อนผสมกัน แต่ละส่วนมีสีต่างกันไปดังนี้ ครีบหูเป็นสีเทาดำ ครีบหางเป็นสีแดงเข้ม ครีบท้องเป็นสีขาวเหลืองแต่มีปลายครีบเป็นสีแดง และครีบไขมันเป็นสีม่วงอมดำ
การแพร่กระจาย
พื้นที่อาศัยของปลาคังจะมีการกระจายตัวอยู่ตามแหล่งน้ำจืดหลายแห่ง ไม่ใช่เพียงแค่แม่น้ำโขงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มีทั้งในแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปิง แม่น้ำแควน้อย รวมไปถึงเขื่อนสำคัญๆ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนรัชชประภา เป็นต้น ส่วนการกระจายตัวของปลาคังในต่างประเทศจะอยู่ตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทะเลสาบในเขมร แม่น้ำสาละวิน รวมถึงแม่น้ำหลายสายในมณฑลยูนนานของประเทศจีนด้วย
นิสัยการกินอาหาร
อาหารของปลาคังเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กและซากสัตว์ทั่วไป เนื่องจากปลาชนิดนี้กินเนื้อเป็นอาหาร แต่ด้วยโครงสร้างร่างกายไม่ได้เข้าข่ายปลานักล่า หากเป็นอาหารที่ยังมีชีวิตจึงเป็นกลุ่มสัตว์ที่จับได้ง่าย เช่น ปลาขนาดเล็ก กบ เขียด เป็นต้น กรณีที่ทำการเพาะเลี้ยงปลาคังก็สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารทะเลสับ อาหารผสม หรืออาหารสำเร็จรูปแบบเดียวกับที่ใช้เลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ ได้